logo-image-test

บ้านมือสองกับบ้านใหม่ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง? ข้อดี - ข้อเสียที่คนซื้อบ้านควรรู้

บ้านมือสองกับบ้านใหม่ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง? ข้อดี - ข้อเสียที่คนซื้อบ้านควรรู้บ้านมือสองกับบ้านใหม่ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง? ข้อดี - ข้อเสียที่คนซื้อบ้านควรรู้
Home Buyers Team

Home Buyers Team

4 มีนาคม 2568

อยากเลือกอ่าน? (TL;DR)

บ้านมือสองกับบ้านใหม่ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง? ข้อดี - ข้อเสียที่คนซื้อบ้านควรรู้

สำหรับคนที่กำลังวางแผนซื้อบ้านเป็นของตัวเอง การตอบคำถามว่า อยากซื้อบ้านใหม่หรือบ้านมือสอง คือเรื่องที่ควรคิดให้ได้เป็นอันดับต้นๆ เลยค่ะ เพราะทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสองนั้นมีตัวเลือกอยู่มากมาย ถ้าไม่ตัดสินใจให้ได้ตั้งแต่ต้นเดี๋ยวจะเกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง จนใช้เวลาเลือกบ้านที่ถูกใจนานเกินไปค่ะ

แต่ก่อนจะตัดสินใจเลือกบ้านใหม่หรือบ้านมือสอง ก็ต้องรู้ถึงความแตกต่างของบ้านทั้ง 2 แบบนี้ด้วยนะคะ เพราะทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสองต่างก็มีข้อดีกับข้อเสียเป็นของตัวเอง Home Hug by Home Buyers เลยมีข้อควรรู้เกี่ยวกับ ความแตกต่างของบ้านมือสองกับบ้านใหม่ มาเปรียบเทียบให้เพื่อนๆ ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจกันค่ะ

บ้านมือสองกับบ้านใหม่ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง? ข้อดี - ข้อเสียที่คนซื้อบ้านควรรู้

ทำเลที่ตั้งของบ้าน

บ้านมือสอง มีข้อดีคือเลือกทำเลได้อย่างหลากหลาย ถ้าเป็นบ้านที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี อาจตั้งอยู่ในทำเลเดียวกับบ้านใหม่เลยค่ะ แต่ถ้าเป็นบ้านที่มีอายุมากกว่านั้นก็อาจพบได้ทั้งในทำเลใกล้เมืองและทำเลในเมือง ซึ่งปัจจุบันหาบ้านจัดสรรโครงการใหม่ได้ยากด้วยปัจจัยด้านมูลค่าของที่ดิน (สร้างคอนโดคุ้มกว่า) ดังนั้นใครมีความต้องการเฉพาะว่าต้องการอยู่ในเมือง หรืออยู่ในทำเลเดิมของบ้านหลังเก่า เลือกบ้านมือสองก็ตอบโจทย์ได้ดีทีเดียว

บ้านใหม่ ส่วนใหญ่จะออกไปอยู่ตามทำเลเมืองชั้นนอกหรือชานเมือง หาโครงการใหม่ที่ยังอยู่ในเมืองชั้นกลางหรือเมืองชั้นในได้ยากมาก ส่วนใหญ่กลายเป็นคอนโดตามการพัฒนาของเมือง ถ้าเจอบ้านก็มักจะมีราคาสูงจนจับต้องได้ยาก แต่ข้อดีของบ้านใหม่ที่อยู่ชานเมืองก็คือโอกาสในการเพิ่มพูนมูลค่าไปตามศักยภาพของทำเล หากย่านนั้นๆ มีโครงการสาธารณูปโภคใหญ่ๆ กำลังก่อสร้างหรือมีแผนขยายเมืองไปสู่พื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ในปัจจุบันตามชานเมืองก็มีแหล่งงานใหญ่อยู่มากมาย อยู่บ้านสร้างใหม่ก็เดินทางไปทำงานใกล้บ้านได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการเข้าเมืองเพียงอย่างเดียวค่ะ

ความพร้อมในการเข้าอยู่

บ้านมือสอง มีทั้งแบบรีโนเวทใหม่พร้อมอยู่ และสภาพเดิมๆ ที่ตกแต่งไม่เยอะก็เข้าอยู่ได้ ไปจนถึงแบบเก่าโทรม ต้องซ่อมแซมใหม่เป็นเวลานานกว่าจะเข้าอยู่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มี และความถูกใจในตัวบ้านของแต่ละคนเลยค่ะ ถ้ารีบเข้าอยู่ ยอมจ่ายแพงหน่อยเพื่อซื้อบ้านรีโนเวทแล้วก็ได้บ้านทันใจ แต่ถ้าเจอบ้านเก่าทำเลดีราคาถูก และพอมีเวลาที่จะรอการซ่อมแซมได้ ทางเลือกนี้ก็ถูกใจใครหลายคนเช่นกันค่ะ แต่มีอีกเรื่องที่ต้องระวังคือบ้านที่เป็นทรัพย์ถูกยึดโดยกรมบังคับคดี (NPL) บางทีเจ้าของเก่าอาจยังไม่ยอมย้ายออก เป็นภาระที่ผู้ซื้อจะต้องขับไล่เองด้วยนะคะ

บ้านใหม่ มีทั้งแบบสร้างเสร็จพร้อมอยู่ และแบบที่ต้องทำสัญญาจองแล้วผ่อนดาวน์รอเป็นเวลาประมาณ 2 - 6 เดือน พอสร้างเสร็จถึงทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์กันได้ ก็เลือกได้ตามความเร่งรีบของผู้ซื้อเลยค่ะ ส่วนเรื่องสภาพบ้าน แม้จะเป็นบ้านที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ แต่เราก็ต้องตรวจสภาพบ้านก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์กันด้วยนะคะ เพราะมีโอกาสที่บางจุดของบ้านจะยังบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ ควรให้เจ้าของโครงการแก้ไขจนเรียบร้อยก่อนค่อยโอนบ้านมาเป็นของเรา และก็อย่าลืมเช็คเงื่อนไขการรับประกันบ้านด้วยนะคะ เพราะบ้านใหม่ๆ กว่าจะอยู่ตัวก็เป็นเวลา 1 - 2 ปี ถ้าระหว่างนั้นมีจุดไหนเสียหายจะได้เรียกให้ทางโครงการมาซ่อมแซมให้ได้ค่ะ

สภาพแวดล้อมโดยรอบ

บ้านมือสอง เราสามารถเห็นสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่จริงรอบๆ บ้านได้ตั้งแต่การไปดูบ้านครั้งแรกเลยค่ะ เพื่อนบ้านมีพฤติกรรมอย่างไร ที่ดินรอบๆ บ้านทรุดตัวไหม ถ้ายังอยู่ในหมู่บ้านนิติบุคคลดูแลส่วนกลางดีหรือเปล่า ตามตรอกซอกซอยใกล้บ้านมีรถติด น้ำท่วม หรือมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีอย่างสถานบันเทิงส่งเสียงดัง มีโรงงานปล่อยมลพิษอยู่ใกล้ๆ ไหม ถ้าเราขยันแวะไปสำรวจทำเลรอบบ้าน ก็จะช่วยให้เราเลือกคุณภาพชีวิตเองได้ตามที่ต้องการเลยค่ะ แต่จุดอ่อนหนึ่งที่พบบ่อยคือหมู่บ้านเก่าๆ บางแห่งอาจไม่มีนิติฯ ดูแลแล้ว ทำให้ไม่มีการจ้างระบบรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน คนอยู่จึงต้องระวังดูแลบ้านกันเองค่ะ

บ้านใหม่ เวลาซื้อบ้านใหม่ คนในหมู่บ้านก็จะย้ายเข้ามาอยู่ในเวลาใกล้เคียงกัน เลยเหมือนเป็นการสุ่มว่าจะเจอเพื่อนบ้านนิสัยแบบไหน ถ้าโชคดีก็แล้วไป แต่ถ้าเจอคนเห็นแก่ตัวก็ปวดหัวเลยค่ะ แต่สำหรับบ้านจัดสรรในปัจจุบัน เจ้าของโครงการก็มีความพิถีพิถันในการเลือกทำเลที่ดีเพื่อแข่งขันกัน รวมถึงมีการตั้งราคาและกำหนดดีไซน์ของบ้านที่ช่วยแบ่งกลุ่มผู้อยู่อาศัยให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกันในแต่ละโครงการได้พอสมควรแล้วค่ะ ที่สำคัญอีกอย่างคือเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางของโครงการใหม่ ซึ่งคิดมาให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันได้ดีกว่า ไหนจะเรื่องของระบบรักษาความปลอดภัย ที่โครงการใหม่ๆ จะมีความรัดกุมตลอด 24 ชม. เลยค่ะ

ราคาและการกู้สินเชื่อ

บ้านมือสอง ถ้าซื้อแบบ เจ้าของขายเอง, ผ่านนายหน้า หรือซื้อกับบริษัทที่รีโนเวทบ้านขาย อาจมีราคาสูงพอๆ กับบ้านใหม่ และอาจต่อรองราคาได้ยาก รวมถึงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ เองด้วย ต่างจากการซื้อบ้านใหม่ที่โครงการมักนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปจัดเป็นโปรโมชัน แต่ถ้าซื้อบ้านมือสองโดยประมูลผ่านกรมบังคับคดี (NPL) หรือซื้อทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ที่ธนาคารเป็นเจ้าของ มักได้ราคาถูกกว่ามูลค่าประเมินเสียอีกค่ะ แถมบ้าน NPA ยังมาพร้อมกับโปรโมชันสินเชื่อจากธนาคารที่เป็นเจ้าของอีกด้วย แต่สิ่งสำคัญที่ควรรู้คือ ส่วนใหญ่ธนาคารจะให้กู้สินเชื่อบ้านมือสองแค่ 80 - 90% ของราคาบ้าน ด้วยเหตุผลเรื่องค่าเสื่อมสภาพ ทำเล และนโยบายรับจำนองของแต่ละธนาคาร ทั้งนี้ก็อาจมีบางแห่งที่ให้กู้ได้เต็มๆ 100% เหมือนกัน อยู่ที่การกำหนดเงื่อนไขของแต่ละธนาคารเลยค่ะ

บ้านใหม่ ซื้อบ้านใหม่กับโครงการจัดสรร มักจะมีข้อเสนอส่วนลดหรือของแถมมาเสนอให้เราเลือกเยอะ ยิ่งในบางช่วงที่ตลาดอสังหาฯ ชะลอตัว เราอาจได้รับการ ลด แลก แจก แถม แบบคุ้มค่าเป็นพิเศษ หรือบางจังหวะที่พนักงานต้องเร่งทำยอด ถ้าเราเก๋าเกมมากพอก็สามารถต่อรองให้ได้ราคาและส่วนลดที่น่าพอใจที่สุดได้ด้วยนะคะ ส่วนเรื่องการกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ปกติแล้วธนาคารต่างๆ มักจัดแพ็คเกจสินเชื่อแบบให้กู้ได้สูงสุด 90 - 100% พร้อมกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในช่วง 3 ปีแรก เพื่อสนับสนุนการซื้อบ้านใหม่กันอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเรามีประวัติการเงินดี และมีรายได้ที่พร้อมส่งผ่อนอย่างสม่ำเสมอ การกู้ซื้อบ้านใหม่ก็ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ

นี่คือ ความแตกต่างระหว่างบ้านมือสองกับบ้านใหม่ ที่ Home Hug by Home Buyers นำมาฝากกันค่ะ หวังว่าข้อมูลนี้จะมีประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่กำลังตัดสินใจเลือกบ้านอยู่นะคะ และถ้าเลือกได้แล้วว่าจะซื้อบ้านมือสอง แวะไปดูประกาศขายบ้านมือสองที่น่าสนใจที่ www.homehug.in.th กันได้เลยค่า