logo-image-test

ขั้นตอนการขายบ้านมือสอง เจ้าของบ้านขายเองต้องทำอะไรบ้าง?

ขั้นตอนการขายบ้านมือสอง เจ้าของบ้านขายเองต้องทำอะไรบ้าง?ขั้นตอนการขายบ้านมือสอง เจ้าของบ้านขายเองต้องทำอะไรบ้าง?
Home Buyers Team

Home Buyers Team

4 มีนาคม 2568

อยากเลือกอ่าน? (TL;DR)

ขั้นตอนการขายบ้านมือสอง เจ้าของบ้านขายเองต้องทำอะไรบ้าง?

เจ้าของบ้านคนไหนกำลังคิดอยากขายบ้าน แต่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มทำอะไรก่อนดี วันนี้ Home Hug by Home Buyers จะมาแชร์ขั้นตอนการขายบ้านมือสองให้เพื่อนๆ ผู้อ่านได้ทำตามกันแล้วค่ะ

การขายบ้านมือสองด้วยตัวเอง แบบไม่ต้องพึ่งนายหน้าจะมีขั้นตอนเป็นอย่างไร? และมีเอกสารอะรไบ้างที่ต้องเตรียมพร้อม? ไปติดตามข้อมูลที่แอดมินรวบรวมมาให้ได้เลยค่า

ขั้นตอนการขายบ้านมือสอง เจ้าของบ้านขายเองต้องทำอะไรบ้าง?

1 เตรียมเอกสารสำคัญให้พร้อม

เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะขายบ้าน ก็ไปเตรียมเอกสารสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับบ้านดังต่อไปไว้ให้พร้อมเลยค่ะ

  • โฉนดที่ดิน เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้แสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้าน ถ้าเราเป็นเจ้าของบ้านโดยสมบูรณ์แล้วก็ให้เตรียมทั้งโฉนดตัวจริงและสำเนาหน้า - หลัง แต่ถ้ายังติดจำนองผ่อนบ้านอยู่กับธนาคารก็เตรียมเฉพาะสำเนาโฉนดหน้า - หลัง ไว้ก่อนค่ะ
  • ทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนบ้านหน้าแรกของบ้านหลังที่จะขาย และหน้าที่เป็นประวัติเจ้าบ้าน ถ้าผู้ขายไม่ใช่เจ้าบ้าน แต่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนด ก็ต้องเตรียมสำเนาทะเบียนบ้านมาอีกชุดด้วยค่ะ
  • หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน (ท.ด.13) เป็นเอกสารที่แสดงการซื้อขายที่ดินครั้งล่าสุด ถ้าก่อนหน้านี้บ้านหรือที่ดินเคยถูกซื้อขายมาก่อนก็ต้องเตรียมมาด้วยค่ะ
  • หนังสือยินยอมให้ขายที่ดิน กรณีที่บ้านมีเจ้าของร่วม หรือยังติดจำนองกับทางธนาคาร ก็ต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าของร่วมทุกคนมาด้วยนั่นเองค่ะ
  • เอกสารการผ่อนชำระ ในกรณีที่บ้านยังอยู่ผ่อนชำระสินเชื่อกับธนาคารไม่ครบ ก็ต้องจัดเตรียมเอกสารแสดงยอดคงสินเชื่อเหลือและเงื่อนไขการชำระเงินไว้ด้วยนะคะ
  • ใบเสร็จการชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าส่วนกลาง ในกรณีที่บ้านอยู่ในโครงการจัดสรรที่จัดตั้งนิติบุคคลดูแล ควรมีใบเสร็จต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันไว้ให้ผู้ซื้อได้มั่นใจด้วยค่ะว่าบ้านปลอดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ
  • ใบเสร็จการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อแสดงว่าเจ้าของบ้านได้ชำระภาษีอย่างถูกต้องและเป็นปัจจุบันแล้ว แต่ถ้าบ้านหลังนี้ไม่เข้าเกณฑ์ต้องชำระภาษีก็ไม่ต้องเตรียมมาค่ะ

นอกจากนี้ถ้ามีเอกสารประวัติการซ่อมแซมและบำรุงรักษา โดยเฉพาะงานระบบไฟฟ้า - ประปา และงานโครงสร้างของบ้าน ก็ควรเตรียมไว้แสดงให้ผู้สนใจซื้อได้ดูประกอบการตัดสินใจด้วยค่ะ

2 ตรวจสอบค่าใช้จ่ายของผู้ขาย

ค่าใช้จ่ายภาคบังคับที่ผู้ขายต้องชำระให้กับกรมที่ดินมีอยู่หลายรายการเลยค่ะ ดังนั้นเราจึงควรตรวจสอบไว้ก่อน เพื่อจะได้เตรียมเงินให้พร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยค่าใช้จ่ายที่ผู้ขายต้องรับผิดชอบจะมีดังต่อไปนี้ค่ะ

  • ภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์
  • ค่าอากรแสตมป์
  • ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ (กรณีถือครองกรรมสิทธิ์น้อยกว่า 5 ปี)
  • ค่าธรรมเนียมการโอน (สามารถตกลงแบ่งจ่ายกับผู้ซื้อได้)

3 ปรับปรุงบ้านให้อยู่ในสภาพดี

บ้านที่อยู่ในสภาพดีจะมีโอกาสดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อได้มากกว่าบ้านที่มีสภาพเก่าหรือทรุดโทรมค่ะ ผู้ขายจึงควรปรับปรุงบ้านให้อยู่ในสภาพที่ดีก่อนประกาศขาย โดยอิงตามความเหมาะสมของงบประมาณนะคะ ถ้ามีงบเยอะก็ซ่อมแซมรีโนเวทใหม่ ถ้ามีงบกลางๆ ก็อาจเลือกซ่อมแซมเฉพาะจุดหลักๆ และทาสีบ้านใหม่ แต่ถ้ามีงบไม่มาก อย่างน้อยควรทำ Big Cleaning ให้บ้านดูสะอาดสะอ้าน น่าเข้ามาเยี่ยมชมค่ะ

4 ตั้งราคาขายอย่างเหมาะสม

ราคาขายคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้บ้านขายได้เร็วและได้ราคาเลยนะคะ ผู้ขายจึงต้องศึกษาราคาตลาดโดยดูจากราคาขายของทั้งบ้านมือสองและบ้านใหม่ที่มีขนาดใกล้เคียงกันบนทำเลเดียวกัน บวกลบด้วยปัจจัยอื่นๆ อย่างสภาพบ้านและสภาพแวดล้อม หากมีการปรับปรุงบ้านก็ต้องคิดค่าใช้จ่ายรวมเข้าไปด้วย แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าควรตั้งราคาเท่าไร ก็สามารถขอคำแนะนำจากผู้ให้บริการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ได้ค่ะ

5 ประกาศขายในช่องทางต่างๆ

เมื่อเตรียมเอกสาร ปรับปรุงบ้าน และตั้งราคาขายได้แล้ว ก็มาถ่ายภาพบ้านมุมต่างๆ ของบ้านเพื่อนำไปใช้ลงประกาศขายกันค่ะ โดยมุมบังคับที่ต้องมีคือภาพหน้าบ้าน รอบๆ บ้าน และห้องต่างๆ ภายในบ้าน ยิ่งมีให้ดูครบก็ยิ่งดีค่ะ ส่วนการประกาศขายก็ทำได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นป้ายประกาศ หรือการโพสต์ลงประกาศตามกลุ่ม Social Media ที่ปัจจุบันเข้าถึงคนได้ในวงกว้าง หรือแพลต์ฟอร์มรวมประกาศขายบ้านมือสองอย่าง www.homehug.in.th ของเราก็เป็นอีกช่องทางที่ใช้งานง่าย และมีผู้ใช้แวะเวียนเข้ามาเป็นจำนวนมากในแต่ละวันด้วยค่ะ

6 เจรจาต่อรองกับผู้ที่สนใจซื้อ

เมื่อมีคนติดต่อมาแสดงความสนใจอยากซื้อบ้านของเรา ปกติแล้วผู้ซื้อจะมีคำถามหลายอย่างเกี่ยวกับตัวบ้าน สภาพแวดล้อม รวมถึงเหตุผลที่อยากขาย และจะมีการต่อรองราคา ซึ่งผู้ขายก็ควรตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาและให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง โดยในการต่อรองราคาเราก็ไม่ควรลดราคาให้จนต่ำเกินไป รวมถึงให้เวลาผู้สนใจซื้อได้ตัดสินใจ ไม่เร่งรัด แต่ก็ไม่ควรรอนานจนเกินไป สามารถคุยกับผู้สนใจรายอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วยก็ได้ค่ะ

7 ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน

เมื่อผู้ซื้อกับผู้ขายตกลงราคากันได้แล้ว ก็มาทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านกันค่ะ โดยต้องระบุรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น

  • ราคาขาย
  • เงื่อนไขการวางเงินมัดจำ
  • เงื่อนไขการชำระเงิน
  • วันที่นัดโอนกรรมสิทธิ์
  • เงื่อนไขการยกเลิกสัญญาและค่าปรับ

ในกรณีที่ขายบ้านให้พร้อมกับเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ก็ควรระบุรายการทรัพย์สินที่รวมอยู่ในการซื้อขายบ้านครั้งนี้ไว้ด้วยนะคะ

8 นัดหมายโอนกรรมสิทธิ์บ้าน

หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายเสร็จแล้ว ก็นัดวันและเวลาโอนกรรมสิทธิ์กับผู้ซื้อกันให้ชัดเจนค่ะ โดยในช่วงที่ผู้ซื้อไปจัดเตรียมเงินและเอกสาร ถ้าผู้ขายยังติดจำนองบ้านกับธนาคารอยู่ก็ให้นำสำเนาสัญญาจะซื้อจะขายบ้านไปแจ้งไถ่ถอนบ้านกับธนาคารไว้ล่วงหน้าด้วย เพื่อให้ทางธนาคารได้เตรียมความเอกสารต่างๆ ในการดำเนินโอนกรรมสิทธิ์ไว้ด้วยนั่นเองค่ะ

พอถึงวันโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานกรมที่ดิน ผู้ซื้อจะชำระเงินทั้งหมดต่อหน้าเจ้าพนักงาน โดยมักออกเป็นแคชเชียร์เช็คจากธนาคารที่ผู้ซื้อไปกู้สินเชื่อมา โดยเรามีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนเงิน จากนั้นก็ชำระค่าธรรมเนียมและภาษีต่างๆ แล้วก็ถึงเวลาลงนามในเอกสารการโอนกรรมสิทธิ์ ส่งมอบกุญแจบ้าน รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้กับผู้ซื้อค่ะ

ขั้นตอนการขายบ้านสำหรับเจ้าของบ้านที่ขายเอง ก็จะมีทั้งหมดตามนี้ค่ะ ถ้าใครอ่านแล้วรู้สึกว่ายุ่งยากจะใช้บริการนายหน้าฝากขายอสังหาริมทรัพย์ช่วยเป็นธุระทำแทนก็ได้นะคะ ส่วนใครที่กำลังมองหาช่องทางลงประกาศขายบ้านมือสอง www.homehug.in.th ก็เป็นอีกช่องทางลงประกาศที่ใช้งานง่าย เข้าถึงผู้ซื้อได้เยอะ แค่โพสต์ภาพและกรอกรายละเอียดตามที่เราแนะนำก็จะช่วยให้บ้านของทุกคนดูน่าสนใจ ดึงดูดผู้ซื้อได้ดีเลยค่า