logo-image-test

ตรวจสภาพบ้านมือสอง ต้องดูอะไรบ้าง? เช็คลิสต์ตรวจบ้านมือสอง - บ้านรีโนเวท

ตรวจสภาพบ้านมือสอง ต้องดูอะไรบ้าง? เช็คลิสต์ตรวจบ้านมือสอง - บ้านรีโนเวทตรวจสภาพบ้านมือสอง ต้องดูอะไรบ้าง? เช็คลิสต์ตรวจบ้านมือสอง - บ้านรีโนเวท
Home Buyers Team

Home Buyers Team

25 มีนาคม 2568

อยากเลือกอ่าน? (TL;DR)

ตรวจสภาพบ้านมือสอง ต้องดูอะไรบ้าง? เช็คลิสต์ตรวจบ้านมือสอง - บ้านรีโนเวท

เมื่อตัดสินใจจะซื้อบ้าน สิ่งที่ต้องทำก่อนรับโอนกรรมสิทธ์บ้านเป็นของเราคือการ ตรวจสภาพบ้าน โดยเฉพาะถ้าเป็นบ้านมือสองยิ่งควรต้องตรวจสอบอย่างละเอียดเลยค่ะ เพราะบ้านมือสองคือบ้านที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ยิ่งมีอายุหลายปี โอกาสที่จะมีบางจุดเสื่อมสภาพก็ยิ่งมากตามไปด้วย

ต่อให้บ้านบ้านมือสองที่เลือกซื้อจะรีโนเวทมาแล้ว ก็ยังมองข้ามการตรวจสภาพบ้านไม่ได้ เพราะอาจมีบางจุดที่เจ้าของเดิมยังไม่ได้ซ่อมแซม วันนี้ Home Hug by Home Buyers ก็เลยรวบรวม เช็คลิสต์ตรวจบ้านมือสอง - บ้านรีโนเวทที่ควรรู้ มาให้ทุกคนได้ดูกันแล้วค่า

1 พื้นที่ดินรอบๆ ตัวบ้าน

ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับบ้านมือสองที่มีอายุหลายปี คือพื้นดินทรุดตัวจนเกิดรอยแตกร้าวของพื้นคอนกรีตบริเวณลานจอดรถ ลานซักล้าง หรือชานบ้าน และอาจเกิดโพรงใต้ตัวบ้านได้ ถ้าพบปัญหาเหล่านี้เราจะได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม หรือถ้ารีโนเวทมาแล้วก็ต้องตรวจหารอยแตกร้าวเพื่อให้เจ้าผู้ขายเก็บงานก่อนส่งมอบบ้าน

อีกปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับบ้านเก่าที่มีอายุเกิน 10 ปี คือแปลงที่ดินบ้านอยู่ต่ำกว่าระดับถนน ด้วยสาเหตุจากการถมถนนหน้าบ้านให้สูงขึ้นในภายหลัง เรื่องนี้ถ้าพบปัญหาอาจต้องหลีกเลี่ยงการซื้อ เพราะเมื่อฝนตกจะเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่บ้านได้

2 โครงสร้างของตัวบ้าน

สังเกตกายภาพทั้งภายนอกและภายในตัวบ้าน ทั้ง ผนัง เสา คาน และพื้น มองหาจุดแตกร้าวใหญ่ๆ ที่อาจส่งผลกระทบกับโครงสร้างบ้านได้ หากมีจุดไหนปูนหลุดร่อนจนเห็นเหล็กโผล่ออกมาแล้วอาจเจอปัญหาใหญ่ได้ หรือถ้ามองด้วยตาเปล่าแล้วเห็นว่าบ้านเอียง ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีคานบางส่วนที่เสื่อมสภาพ ต้องให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประเมินว่าซ่อมหนักหรือเบา

หากเป็นบ้านที่รีโนเวทมาแล้ว อาจดูด้วยตาเปล่าแล้วไม่เห็นจุดบกพร่องเพราะมีวัสดุตกแต่งปิดผิวอยู่ ถ้าต้องการรอบคอบเป็นพิเศษสามารถเรียกใช้บริการวิศวกรตรวจรับบ้าน ซึ่งปัจจุบันหลายรายจะมีการใช้กล้องอินฟาเรดส่องทะลุพื้นผิวภายนอกเพื่อดูสภาพโครงสร้างภายในได้

3 หลังคาหรือดาดฟ้าบ้าน

หลังคาคือจุดที่มักพบปัญหาเร็วที่สุดหลังจากอยู่บ้านไปแล้วไม่นาน โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่ในฤดูฝนมีฝนตกค่อนข้างหนัก แค่ 2 - 3 ปีก็เริ่มเจอจุดรั่วซึมกันแล้ว ในการตรวจสภาพต้องใช้การสังเกตคราบน้ำบนฝ้าของชั้นบน แล้วให้ช่างผู้ชำนาญปีนขึ้นหลังคาไปตามหาจุดที่มีรอยรั่ว หรือถ้าใช้บริการของวิศวกรตรวจบ้าน ปัจจุบันมีหลายรายนำโดรนมาบินขึ้นไปส่องกล้องช่วยตรวจดูด้วย

หากเป็นอาคารพาณิชน์หรือบ้าน 3 - 4 ชั้นที่มีดาดฟ้า ถ้าบ้านมีอายุหลายปีก็อาจเกิดปัญหารั่วซึมได้เช่นกัน เพราะดาดฟ้าต้องรับแสงแดดและน้ำฝนโดยตรง หากพื้นผิวเกิดรอยแตกร้าวหรือน้ำยากันซึมเสื่อมสภาพ อาจเกิดน้ำขังอยู่ภายในคอนกรีตและส่งผลเสียต่อโครงสร้างโดยรวมได้เลยค่ะ

4 งานระบบไฟฟ้า - ประปา

งานระบบไฟฟ้าและประปาจะอยู่บนใต้พื้น ฝ้าเพดาน และในผนัง เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแต่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด โดยเฉพาะกับบ้านที่มีอายุเกิน 10 ปีขึ้นไป สายไฟจะเริ่มเสื่อมสภาพ หากปล่อยไว้จะมีโอกาสเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ ส่วนระบบประปาถ้าเป็นบ้านเก่าอายุหลายสิบปี หากใช้ท่อเหล็กก็อาจมีสนิมผุกร่อน จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นท่อ PVC ที่ทันสมัยและทนทานมากกว่า

งานระบบไฟฟ้าจำเป็นต้องเปิดฝ้าเพื่อตรวจสอบด้วยสายตา ส่วนงานประปาต้องใช้วิธีสังเกตคราบน้ำรั่วซึมและทดสอบการทำงานของระบบสุขาภิบาลโดยผู้เชี่ยวชาญ ขั้นนี้ว่าจ้างวิศวรตรวจบ้านมาช่วยจะดีกว่า

5 วัสดุปูพื้น เพดาน ผนัง

วัสดุกลุ่มนี้สามารถดูสภาพได้ง่ายด้วยตาเปล่า โดยปัญหาที่พบบ่อยคือ กระเบื้องปูพื้นแตกร้าว กระเบื้องแกรนิโต้ดีดเพราะปูชิดกันเกินไป พื้นไม้เทียม (SPC - ลามิเนต) บวม หรือพื้นไม้จริงถูกปลวกกัดกิน ต้องประเมินการรื้อทิ้งแล้วปูใหม่

ส่วนฝ้าเพดานจะต่อเนื่องจากเรื่องของหลังคาและระบบประปา เพราะมักมีปัญหาเกิดจากน้ำรั่วซึมจนเกิดคราบหรือขึ้นรา หากสภาพเก่าโทรมก็ควรรื้อเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด แต่ถ้ามีคราบเล็กน้อยก็สามารถแก้ไขเป็นจุดๆ ไปได้

เรื่องของผนังมักมีปัญหาอยู่ 2 อย่าง คือรอยแตกลายงา ถ้ารอยไม่กว้างและลึกจนกระทบโครงสร้างก็แก้ไขได้ไม่ยากแค่ สามารถฉาบใหม่ให้กลับมาเรียบได้ ส่วนอีกปัญหาคือผนังที่ติดวอลล์เปเปอร์ อายุการใช้งานของวอลล์เปเปอร์มักจะอยู่ได้ไม่นานก็เริ่มหลุดลอกหรือขึ้นรา ควรใช้น้ำยาลอกวอลล์เปเปอร์เก่าออกทั้งหมดหากพบปัญหา

6 วัสดุประตูและหน้าต่าง

ตรวจสอบน้ำรั่วซึมโดยการปิดประตูและหน้าต่างแล้วฉีดน้ำใส่นานๆ ถ้ายังมีสภาพดีอยู่ต้องป้องกันน้ำซึมเข้าบ้านได้อย่างดี ถ้าเป็นบ้านเก่าอายุหลายปีอาจใช้ประตูและหน้าต่างที่ทำจากไม้จริงก็ต้องดูว่าปลวกขึ้นหรือเปล่า การเปิดปิดมีความฝืดเกินไปไหม แต่ส่วนใหญ่มักจะนิยมเปลี่ยนเป็นวัสดุที่ทันสมัยอย่างอลูมิเนียมหรือ UPVC เพื่ออายุการใช้งานและความสวยงาม

นี่คือจุดที่ควร ตรวจสภาพของบ้านมือสอง แบบขึ้นต้นที่ผู้ซื้อควรรู้ไว้ค่ะ ในทางปฏิบัติจริงควรให้วิศวกรตรวจบ้านช่วยตรวจสอบให้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นบ้านสภาพเดิมๆ สภาพเก่าโทรม หรือบ้านที่รีโนเวทแล้ว ก็ไม่ควรมองข้ามการตรวจสภาพบ้านเลยนะคะ เพราะรู้ปัญหาก่อนย่อมทำให้เราเตรียมรับมือได้ดีกว่านั่นเองค่ะ